เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง... ที่นิสัยดี (เหมือนหน้าตา) อิอิ

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โรคและแมลงที่รบกวนลีลาวดี

โรคพืชที่เป็นกับต้นลีลาวดี หรือลั่นทม มีดังนี้

1.โรคราสนิม เกิดจากเชื้อราซึ่งสังเกตได้ด้วยตาเปล่า หากมีจุดหรือกระจุกปุยๆ สีเหลืองอยู่ทั่วใต้ใบ ขณะที่ด้านบนของใบเป็นรอยแผลสีน้ำตาลดำ กระจุกสีเหลืองนั้นคือราสนิมที่กำลังสร้างสเปอร์สีเหลือง และกระจายแพร่พันธุ์ไปตามลม เมื่อสเปอร์ตกลงบนใบก็จะงอกรากแทงลงไปในผิวของใบเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงในใบ ทำให้ผิวใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เหี่ยวและร่วงหลุด แต่สเปอร์ที่ปลิวฟุ้งกระจายจะขยายพันธุ์ต่อไป

ราสนิมมักเกิดในช่วง อากาศชื้น เย็น แต่จะหายไปเมื่ออากาศร้อนและแห้ง วิธีป้องกันที่ดีคือตัดแต่งกิ่งและใบให้มีช่องการระบายอากาศได้ดี สังเกตดูเมื่อเริ่มเกิดโรคที่ใบใด ให้เด็ดไปฝังหรือเผาให้ไกลต้น เป็นการควบคุมปัญหาที่ดีที่สุด ส่วนการกำจัดด้วยสารเคมี (สารละลายกำมะถันผง 30-40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร) อันตรายและไม่คุ้มเงิน เพราะเมื่ออากาศชื้นมันจะกลับมาเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก

จะพบลีลาวดีเป็น โรคราสนิมเสมอหากอยู่ในสภาพแวดล้อมดังต่อไปนี้ 1.อยู่ในที่ที่มีความชื้นในอากาศสูงเป็นระยะเวลายาวนาน หรือรดน้ำบ่อยครั้งเกินไป 2.ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ทำให้ต้นอ่อนแอ 3.มีใบปกคลุมมากเกินไป และได้รับปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ทำให้ต้นอวบน้ำกว่าปกติ 4.มีต้นไม้อื่นที่มีเชื้อสาเหตุโรคพืชอยู่ใกล้ๆ

2.เพลี้ยแป้ง เป็นปุยสีขาวอยู่ใต้ใบคล้ายแป้ง มีเส้นใยปกคลุม ตัวเพลี้ยสีขาวอยู่ในเส้นใยนั้น หากใช้นิ้วบี้ปุยขาวจะมีน้ำสีเหลืองและแดงออกมา มันจะทำลายตามใต้ใบ ลำต้น และยอดอ่อน ที่ร้ายคือจะดูดกินน้ำในใบจนใบเฉาแห้ง ทำให้ต้นแคระแกร็น ใบร่วง และถ้ามีปริมาณมากต้นอาจทรุดโทรมตายได้ นอกจากนั้น มันยังปล่อยน้ำหวานดึงดูดให้มดเข้ามากิน และเป็นสาเหตุให้เกิดราดำ ถ้าพบปริมาณไม่มากใช้วิธีรูดตัวออกมาทำลาย ถ้ามีมดเดินอยู่ใช้ยาฆ่ามดหรือราดที่รังมดป้องกันการแพร่กระจายพันธุ์ด้วย สารคาร์บาริล ถ้าจำเป็นใช้สารประเภทสะเดาฉีดพ่นห่างกัน 4-5 วัน ติดต่อกัน 2 ครั้ง

3.เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็กมาก มีปีกบินได้ มักเกาะอยู่ใต้ใบอ่อน มันจะดูดกินน้ำเลี้ยงและปล่อยสารพิษเข้าในเนื้อเยื่อทำให้ยอดและใบลีลาวดี บิดเบี้ยว กลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดร่วงไป เพลี้ยไฟมากับอากาศร้อนและแห้งแล้ง การป้องกันทำได้ยาก หากเป็นแล้วให้เด็ดใบทิ้งหรือฉีดพ่นด้วยสารสะเดา หรือใช้สารเคมีมาลาไธออน หรือพาราไธออน ซึ่งต้องระวังและป้องกันตัวในการฉีดพ่นให้ดี แต่เนื่องจากเพลี้ยไฟเป็นแมลงที่มีการเคลื่อนไหวในเวลากลางวัน พบมากช่วงเวลา 08.00-12.00 น. การพ่นสารเคมีซึ่งโดยทั่วไปแนะนำให้พ่นในเวลาเย็น แต่ในกรณีของเพลี้ยไฟควรพ่นสารเคมีในตอนเข้า

4.โรคลำต้นเน่า มีอาการลำต้นนิ่ม ใบและยอดค่อยๆ เหี่ยวและกลายเป็นสีดำ ใบร่วง เมื่อบีบลำต้นจะแบนจนติดกัน ผ่าดูจะเห็นภายในลำต้นมีเนื้อเยื่อเน่าเป็นสีดำ สาเหตุเกิดจากเชื้อราเข้าสู่ลำต้นทางบาดแผล ซึ่งอาจติดมาตั้งแต่ตอนตัดกิ่งเพื่อปักชำ มีเชื้อแบคทีเรียเข้ามาช่วยให้เน่า การป้องกันจึงต้องเริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดมีดหรือกรรไกรที่ตัดให้สะอาด ด้วยแอลกอฮอล์ แต่ส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าภายในต้นเน่าโรคก็ลุกลามไปแล้ว ให้สังเกตยอดและผิวของกิ่งที่เป็นจะเห็นใบเหี่ยวลู่ ผิวกิ่งเหี่ยวเป็นรอยย่น ตัดดูภายในพบเน่าให้ตัดกิ่งที่เป็นโรคทิ้งให้หมด ไม่ต้องเสียดาย หากต้นยังแข็งแรงดีกิ่งและใบจะงอกงามอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น